2019年8月12日月曜日

สาร อนุสรณ์ตระกูล ทิพยมณฑล

สาร อนุสรณ์ตระกูล ทิพยมณฑล

                เป็นหนังสือที่พ่อทำไว้เพื่อให้ครอบครัวลูกหลานทั้งสายตรงสายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันทำบุญประจำปีให้คุณทวด  มดเพิ่งเห็นบันทึกเล่มนี้ ตอนที่กลับไปเยี่ยมบ้านเดือนมิถุนายนปีนี้
               ได้มีเวลาอ่าน..รู้สึกสำนึกในบุญคุณของบรรพบุรุษอย่างสุดซึ้ง และ เข้าใจว่าทำไมพ่อไม่ยอมปล่อยให้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของบ้านเราสมัยคุณทวดหายไปกับกาลเวลา มันทำให้มดเริ่มคิดว่าจะไม่ยอมให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของพ่อหายไปกับกาลเวลาด้วยเช่นกัน



           
              ชีวิตสั้นนัก จากเล็กจนโตมาถึงวันนี้โชคดีที่มดได้รู้ถึงความหมายของชีวิต รู้ว่าเกิดมาเพื่ออะไร ชีวิตมดโลดโผนเกินกว่าจะคิดว่าเป็นความบังเอิญ สิ่งละอันพันละอย่างมันไม่ได้ง่ายเลย  ต้องท้าทายกับสิ่งยั่วยุทุก ๆ ทาง  ทำให้ต้องตัดสินใจในเรื่องยาก ๆ  ทุกสิ่งคือบททดสอบความดีในจิตใจ ตระหนักดีว่าทุกสิ่งที่ผ่านมาได้เพราะผลบุญ และ พระคุณของบุพการีอย่างแท้จริง พ่อแม่ไม่เคยรังแก แม้ไม่ได้สั่งสอนด้วยทุกคำพูด แต่เป็นตัวอย่างชีวิตที่ดีให้เสมอมา แม้จะพลาดแต่ก็ไม่ทำให้เลือกหนทางผิด มีสำนึกแก้ไขจากผิดเป็นถูกเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตด้วยความหยิ่งในตัวเอง ไหว้ตัวเองด้วยปัญญาคิดพิจารณาเพื่อไม่ให้ต้องเสียใจในภายหลัง
             โชคดีเหลือเกินที่ในที่สุดก็รู้ถึงประโยชน์ของการเกิด ได้เรียนรู้ธรรมของพระพุทธเจ้าและปฎิบัติรู้ด้วยตนเองได้ ทำให้รู้ความเป็นมาเป็นไปของชีวิตแล้วว่า คนเราไม่ได้มีแค่เกิดมาแล้วกินนอนนั่งเดิน ตาย แล้วก็เกิดเพียงเท่านั้น ชีวิตที่ผ่านมายิ่งข้มเข้นก็ยิ่งต้องอดทนชนะความอยากได้ อยากมี อยากเป็นของตัวเองเพื่อผ่านบททดสอบที่ท้าทายคุณธรรมในใจ  บางครั้งมันยากมากมาก กว่าจะก้าวข้ามมาอยู่เหนือความทุกข์สุขทั้งหมดไปได้
             วงล้อของจิตแต่ละดวง มีวิถีดำเนินไปโดยหมุนตามเกลียวกรรมไปเรื่อย ๆ  จนนับครั้งไม่ถ้วน โดยเริ่มจากฐานล่างแต่ละชาติที่เราเกิดแล้วเกิดอีกหมุนเวียนวายตายเกิดตามตอบแทนตามชดใช้ มีความผูกพันเป็นกาว ให้เกาะเกี่ยวกันไว้ ทำให้ต้องพบต้องเจอกันจนได้ บ้างเจอเพื่อเกื้อหนุน เพื่อสร้างและบ้างก็เจอเพื่อทวงสัญญา
             เมื่อได้รู้ถึงภพชาติ ท่านให้สักแต่ว่ารู้ เพราะมันคืออดีตแก้ไขอะไรไม่ได้ นอกจากยกระดับจิตในปัจจุบันให้สูงขึ้นเป็นลำดับให้ได้เท่านั้น  ทุกสิ่งที่ตามองเห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าของสภาพการณ์ของภพชาตินี้ที่เราได้เกิด ความหมายของการเกิดครั้งนี้มีความหมายมากกว่าทุกครั้ง เพราะได้ตระหนักรู้ เหตุผลของการเกิดแล้ว  นอกจากต้องพัฒนาคุณภาพให้จิตให้สูงขึ้นก็ไม่มีเหตุผลอื่นใดอีก(ช่างวิเศษอะไรเช่นนี้ที่มีโอกาสได้เกิดมาเป็นมนุษย์อีกครั้ง)
             เมื่อจิตเบาและสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ  จนสิ้นสุดเกลียวแห่งวัฏจักรเวียนว่ายตายเกิด ปัจจัยแห่งการเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็จะไม่มีอีกต่อไป



          ได้มีเวลาอ่านบันทึกเล่มนี้..รู้สึกสำนึกในบุญคุณของบรรพบุรุษอย่างสุดซึ้ง และ เข้าใจใจพ่อว่าว่าทำไมจึงไม่ยอมปล่อยให้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของบ้านเราสมัยคุณทวดหายไปกับกาลเวลา มันทำให้มดเริ่มคิดว่าจะไม่ยอมให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของพ่อหายไปกับกาลเวลาด้วยเช่นกัน
         





ไม่รู้เพราะเกิดวันเดียวเดือนเดียวกับพ่อหรือเปล่า ทำนองชีวิตคล้ายพ่อ มดก็รักการเขียนไม่แพ้พ่อ เท่าที่มีชีวิตคงอีกไม่นานหลังจากนี้ เมื่อชีวิตถึงวันที่หยุดนิ่งได้พักเสียที วันนั้น มดจะเขียนเรื่องราวของพ่อ คัดเรื่องราวจากบันทึกเต็มตู้ที่พ่อเขียนไว้ทุกวัน ๆ จนกระทั่งเกษียณราชการ..เช่นเดียวกับที่คุณพ่อเขียนเพื่อคุณทวดนะคะ






ได้เวลา..

ขอบันทึก  สาร อนุสรณ์ตระกูล ทิพยมณฑล
เพื่อเป็นของขัวญให้ พ่อ และ แม่ที่รักยิ่งของลูก


สาร อนุสรณ์ตระกูล ทิพยมณฑล

"ขอให้นามสกุลของ รองอำมาตย์เอก พระราชนายกเสนี (เมือง) กรมการพิเศษนครเชียงใหม่  ตามที่ขอมานั้นว่า "ทิพยมณฑล" (เขียนเป็นอักษรโมมันว่า Dibyamandara) อันเป็นมงคลนาม
 ขอให้สกุลทิพยมฑล มีความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงอยู่ในกรุงสยามชั่วกัลปาวสาน เทอญ"

พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ
วันที่ 16 กรกฎาคม พุทธศักราช 2459







อนุโมทนาสาธุการ

   ได้รับทราบจาก พ.ต.ท.ธงชัย ทิพยมณฑล ว่าคณะลูกหลานญาติมิตรจะทำญอุทิศบุญให้บรรพบุรุษในวันที่ 6 มีนาคม 2547


นับแต่ข้าพเจ้าได้มาบรรพชา และ อุปสามบทอยู่วัดเจดีย์หลวงในปี 2475 ได้มีโอกาสรู้จักคุ้นเคยกับคณะศัทธาที่มาทำบุญรักษาศีลประจำวันพระ มีมากมายหลายท่าน โดยเฉพาะคณะศรัทธาในตระกูล ทิยมณฑล จะมีคุณยายบัวผัน ทิพยมณฑล เป็นต้น เป็นญาติผู้ใหญ่นับเป็นศรัทธามาทำบุญเป็นประจำ

   ท่านที่เป็นผู้ใหญ่ของตระกูลทิพยมณฑล คือ คุณพระนายกคณานะการ(เมือง ทิพยมณฑล)
เพื่อแสดงความสามัคคีเป็นญาติธรรม พ.ต.ท.ธงชัย ทิพยมณฑล จึงได้เชิญชวนญาติพี่น้องมาทำบุญร่วมกัน




  พระพุทธพจนวราภรณ์  วัดเจดีย์หลวงมหาวิหาร 
  21 มกราคม 2547

 ขออนุโมทนาการกุศลเจตนาของ พ.ต.ท.ธงชัย ทิพยมณฑล ขอให้บรรดาญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วมารับทราบอนุโมทนาให้พ้นจากที่ยาก พรากจากที่ทุกข์ให้ไดรับความสุขสมปรารถนาทุกประการ



คำปรารถ

   วันที่ 2 มีนาคม ของทุก ๆ ปี นับเป็นวันสำคัญของตระกูล "ทิพยมณฑล"
   วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2484 เวลา 21.50 น. เป็นเวลาขอการถึงอนิจกรรมของ พระนายกคณานุการ (เมือง ทิพยมณฑล) ที่กาลเวลานั้น ลูกหลานเรียกกันร่วมกับบุคคลทั่วไปว่า "เจ้าอุ้ย"

  ท่านได้เกิดล้มป่วยด้วยโรคลมปัจจุบัน ประกอบทั้งสังขารไม่อาจต้านทานโรคภัยที่เข้ามาแทรกแซงได้ จึงได้ถึงแก่กรรมด้วยอาการอันสงบ และมีสติมั่นคง ท่านมกลางบุตรหลานบ้านกลางเวียง ได้พยายมรกษาพยาบาลอย่างเต็มที่ คงทิ้งแต่ความเศร้าสลดวิปโยค และอนุสารณ์แห่งความดีไว้ให้แก่บุตรหลานชั่วนิรันดร์.....คิดคำนวณอายุได้ 90 ปี
  วันที่ 2 มีนาคม ของทุกปี ขณะนี้มีคุณเรียงพันธ์ ทิพยมณฑล เป็นประธานในการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ "เจ้าอุ้ย"  ตลอดมาที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร แต่เวลา 07.00 น. หลังจากทำบุญแล้วก็ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสามเณรทั้งวัด  ต่อจากนั้นญาติมิตร  ลูกหลานก็ร่วมรับประทานกันในพระวิหารหลวงนั้นเอง ทำเช่นนี้ทุกปีเสมอมา

  นามสกุล "ทิพยมณฑล" เป็นนามสกุลที่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ให้ไว้เมืองวันที่ 16 กรกฏาคม พุทธศักราช 2459 ยุคนั้น สมัยนั้นบุคคลทั่วไปหาได้ไม่มากที่จะตั้งชื่อ นามสกุลของตระกูลตนเองเมื่อ "เจ้าอุ้ย" ได้รับพระราชทานนามสกุลมาแล้ว ด้วยความเมตตาปราณีของ "เจ้าอุ้ย" จึงปรากฎว่านอกจากบุตรของเจ้าอุ้ยโดยตรงแล้ว ยังมีญาติใกล้ชิดทั้งข้าราชบริพารสมัยนั้นขอร่วมใช้นามสกุล "ทิพยมณฑล" ด้วยมากมาย อาศัยอยู่ในหลายท้องที่อำเภอ  และจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือ
  ด้วยเหตุแหล่งการกระจัดกระจายของผู้ร่วมใช้นามสกลุนี้ ดังกล่าวแล้ว จึงมีดำริใคร่ได้พบพานผู้ร่วมใช้นามสกุลทุกครอบครัว ขอได้มาร่วมกันทำบุญ และลงทะเบียนให้ทราบชัดถึงบิดา มารดาผู้ให้กำเนิดมาจากสายใดทางไหน อันจะเป้นประโยชน์ต่างการสัมพันธ์กันต่อไป อีกทั้งจะก่อคุณอนันต์ที่ทุกครอบครัวจะได้มีความเอื้ออาทรต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นการสืบสานดำรงวงค์ตระกูล "ทิพยมณฑล" ให้ยืนยาวต่อไป




วัตถุประสงค์หลักที่ได้ เชิญชวนญาติพี่น้องมาทำบุญร่วมกัน ก็คือ

   1.เพื่อมาร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศล แต่บรรพชนผู้ล่วงลับอันนได้แก่บิดา มารดา ญาติพี่น้อง  โดยเฉพาะแด่พระนายกคณานุการผู้ต้นตระกูล เป็นการแสดงออกของกตัญญูคุณตา

   2.เพื่อผู้ร่วมใช้นามสกุลมาประสานสัมพันธ์ รู้จักแต่ละครอบครัวปลูกฝังความรักใคร่สามัคคีกันต่อไป

   3.เพื่อให้ผู้ร่วมใช้นามสกุล "ทิพยมณฑล" มารว่มกันยืนยันที่จะจรรโลงวงศ์ตระกูลให้เป็นครอบครัวที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีอุดมการณ์ที่จะไม่ข้องเกี่ยวกับสิ่งเสพติด และอบายมุขทั้งปวง พึงดำรงตนเอย่างสมศักดิ์ศรีเยี่ยงบรรพชนต้นตระกูลได้ประพฤติปฏิบัติตลอดมา 
       
                                    "จงรู้เหตุ  รู้ผล  รู้ตน  รู้ประมาณ  รู้กาล  รู้บุคคล  รู้สังคม
                                                    ถ้าต้องการความเจริญ และ สันติสุข"


ประวัติ
พระนายกคุณานุกร (เมือง ทิพยมณฑล)

    พระยาคณานุการ(เมือง ทิพยมณฑล) ถือกำเนิดวันอังคาร ที่ 5 พฤษภาคม 2395 ณ.บ้านตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรนายดวงทิพย์ - นางจันทร์ผ้อง ซึ่งมีเชื้อสายไทยโยนก  คนพื้นเมืองเชียงใหม่ โดยแท้
    เด็กชายเมือง เรียนหนังสือไทยกับท่านอาจารย์พระเตช วัดดวงดี กลางเวียงเชียงใหม่ อาจารย์เตชะ ผู้ได้ศึกษาภาษาไทยมาหบายปีจากวัดบวรนิเวศน์ในกรุงเทพมหานคร เด็กชายเมืองจึงเป็นผุ้มีความรู้ภาษาไทยกลางได้คล่องแคล่ว ทั้งการอ่าน การเขียน และพูดภาษาไทยกลางได้ไม่เคอะเขิน ได้บวชเรียนเมื่ออายุครบอุปสมบทเป็นเวลาหนึ่งพรรษา ลาจากสิกขาบทแล้วเรียกว่าเป็น "หนานเมือง"
    นาย(หนาน)เมือง อายุ 22 ปี ได้รับคัดเลือกให้เข้ารับราชการเป็นเสมียนฝ่ายปกครองในปี พ.ศ. 2417 รับเงินเดือนครั้งแรกเดือนละ 8 บาท

   พ.ศ. 2420 เจ้าหลวงอินทวิไชยานนท์ได้ทรงบัญชาให้เจ้าอินทแก้ว(เจ้าแก้วนวรัฐ) ผู้ราชบุตรซื่ออายุย่าง 15 ปี ฝึกเข้ารับราชการเพื่อให้รู้ระเบียบราชการแต่วัยหนุ่ม ได้ร่วมงานกับหนานเมือง ซึ่งอายุ 22 ปี และรับราชการมาก่อน ทรงได้เป็น "พี่เลี้ยง" เจ้าอินทแก้วคุมราษฎรจากเชียงใหม่-ลำพูน 300 คน ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองเชียงแสนที่เป็นเมืองร้างมาก่อนจนเป็นที่เรียบร้อย


   พ.ศ. 2422 หนานเมืองทำงานราชการย่างเข้าปีที่ 5 ได้รับกรุณาเสมียนมหาดไทยไปประจำกองรับจ่ายเงินไปเป็นเสมียนข้าหลวงต่างพระองค์ ได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ 40 บาท เป็นผู้นำหนังสือราชการไปให้พระเจ้าอินทวิไชยานนท์ ในฐานนะเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่อันเป็นเจ้าประเทศราชสมัยนั้น ลงพระนามตลอดจนเบิกจ่ายเงินไหให้พระเจ้าอินทวิไชยานนท์ด้วย
   พ.ศ. 2425 พ่อเจ้าหลวงอินทวิไชยานนท์ได้รับการสถาปนาเป็น "พระเจ้าผู้ครองนคร" แล้วทรงแต่งตั้งหนานเมืองเป็น "แสนคันธโยธี"

   พ.ศ. 2429 หนานเมือง อายุ 34 ปี เจ้าเหนือหัวเห็นว่ารับราชการมาแต่อายุ 22 ปี ควรเป็น "พญา" (ปกติจาก"แสน"ระยะ 2-3 ปี ก็เลื่อนเป็น "ท้าว") จึงให้แสนคันธโยธีเลื่อนเป็น "พญาอินทโกษา"
   พ.ศ. 2430 พญาอินทโกษา ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าอินทวิไชยานนท์ให้เดินทางไปไกล่เกลี่ยกรณี นายส่างอ่อง ผู้ประมูลทำไม้ขอนสักที่เมืองยวม (อ.แม่สะเรียง) บิดเบือนทำบัญชีการตัดไม้สักไม่ตรงกับตอไม้ที่เหลือ ไม่ยอมจ่ายเงินให้แก่ พญาเทพบำรุงรักษาเขต ผู้รับมอบหมายจากข้าหลวงให้ไปดูแลการทำไม้ที่เขตเมืองยวมนี้ พญาอินทโกษาก็ได้ชำระความจนเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย คือขอให้ส่างอ่อง จ่ายชำระครึ่งหนึ่งของบัญชีที่ขาดหายไป และก็นำเงินส่งชำระภายใน 3 วัน จนที่สุดพญาเทพบำรุงรักษาเขตก็ร่วมเดินทางกับพญาอินทโกษา นำเงินมามอบถวายพระเจ้าอินทวิไชยานนท์ เป็นที่พอพระทัยในผลงานของพญาอินทโกษาเป็นอย่างมาก

   
พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ (ร.5) โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอพระเจ้าโสณบัณฑิต มาดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ และส่งเจ้าพระยามาหาสมบัติ (บุตร บุญรัตพันธ์) มาเป็นข้าหลวงประจำเมืองเชียงใหม่ เจ้าอินทแก้ว ได้รับฐานันดรศักดิ์เป็นเจ้าราชภาคินัย และเล่อนเป็นเสนาคลัง แต่งตั้งพญาอินทโกษาเป็นรองเสนาคลังให้ทำงานร่วมห้องเดียวกันกับเจ้าราชภาคินัย
   พ.ศ. 2433 พญาปราบสงคราม(หนานเตชะ) นายแคว้นสันทราย เป็นหัวหน้าพร้อมด้วยพญาคูหาสถิตย์ นายแคว้นคอยสะเก็ตร่วมกับราษฎรสองอำเภอทำการต่อต้านการเก็บภาษีต้นหมาก ต้นพลู จากนายอากร ซึ่งเป็นคนจีนที่เหมาเก็บให้แก่รัฐฯ  สมัยนั้น ประกาศจะทำลายล้างเอาชีวิตคนจีน และ ข้าราชการที่เป็น "ไทยใต้" ได้นำกำลังจะบุกเข้ามาในเมืองเชียงใหม่ เจ้าราชภาคินัย (อินทแก้ว) เสนาคลังกับพญาอิทโกษา  รองเสนาคลังเห็นว่าเป็นการก่อนความไม่สงบปล่อยให้มีการกระทำผิดกฎหมายไม่ได้ จึงรวมระดบชายฉกรรจ์ไปตรึงกำลังตลอดลำน้ำแม่คาว บังเอิญเกิดเหตุฝนตกใหญ่ติดต่อกันสามวันสามคืน ฝ่ายพญาปราบสงครามข้ามลำน้ำมาไม่ได้ พอน้ำแม่กวงลดลงกำลังของพระราชภาคินัยก็เข้าทางแคว้นสันทรายเพื่อติดตามจับกุมหนานเตชะ ส่วนพญาอินทโกษา ก็บุกไปทางบ้านถ้ำแคว้นดอยสะเก็ต พวกชาวบ้าน และพญาคูหาไม่ได้ต่อสู้ พญาอินทโกษาจับตัวผู้ก่อนการได้หลายสิบคนส่งให้เจ้าบุรีรัตน์ (เจ้ามหาอินทร์ ณ.เชียงใหม่) นำมาคุมขังไว้ที่คุ้มกำแพงแดง(สี่แยกกลางเวียง)เพื่อไต่สวนต่อไป

(คุ้มกำแพงแดง ต่อมาสืบทอดเป็นกรรมสิทธครอบครองของพระนายกคณานุการ ด้วยการซื้อจากเจ้าบุรีรัตน์ เป็นบ้านต้นตระกูล "ทิพยมณฑล")


    พญาอินทโกษาได้ยกกำลังติดตามเจ้าราชภาคินัยออกไปเอาตัวพญาปราบสงครามที่หนีไปทางอำเภอพร้าว ติดตามไปถึงอำเภอฝางเจ้าราชภาคินัยไปถึงเมืองยอน ข้ามแม่น้ำกกที่ท่าตอน อำเภอแม่อาย ส่วนพญาอินทโกษาคุมกำลังบุกขึ้นดอยลาง อำเภอแม่อาย ปรากฏว่าพญาปราบสงครามหนีเข้าเขตพม่าในเขตยึดครองของอังกฤษแล้วยากที่จะติดตามต่อไป

    พ.ศ. 2440-2443 พญาอินทโกษาได้เอนเป็นพญาจ่าบ้านบุราวาส และเลื่อนเป็นพญาสามบ้านศิริราชโยธา ซึ่งเป็นข้าราขการชั้นประทวน
    พ.ศ. 2445 เกิดกบฎเงี้ยวปล้น และยึดเมืองแพร่ฆ่าพญาไชยบูรณ์(ทองอยุ่ สุวรรณบาตร) พร้อมข้าราชการไทยได้เป็นจำนวนมาก และมีข่าวจะบุกเมืองลำปาง ทางเชียงใหม่จึงต้องระวังป้องกันเมือง หลวงศรีพยุหสงคราม (หนานเมือง) ก็ได้รับมอบหมายให้กะเกณฑ์ชายฉกรรจ์ชาวเชียงใหม่เป็นกำลังรักษาประตูเมืองทางด้านประตูท่าแพ ประตูเชียงใหม่ประตูสวนดอก ซึ่งมีข้าราชการ และบรรดาเจ้านายเมืองเหนือร่วมรักษาประตู ทางด้านนอกเมืองก็จัดกำลังรักษาหมู่บ้านของตนเองอย่างเข้มแข็ง โดยมีหลวงศรีพยุหสงครามทำการประสานนายอากร พ่อค้าจีนที่เป็นนายอากร สุรา ยาฝิ่น จัดหาเสบียงอาหารช่วยเหลือกำลังประจำประตูเมืองต่าง ๆ จนกบฎเงี้ยวได้แตกสลายไป จึงเป็นอีกภาระที่สำคัญอันหนึ่งของหลวงศรีพยุหสงครามที่ร่วมการป้องกันเมืองได้เสร็จสิ้นไป

    ในปีเดียวกันนี้(พ.ศ.2445) ขณะมีภาระเกี่ยวกับการป้องกันเมืองอยู่ แขวงรอบนอกเมืองเชียงใหม่ก็ได้เกิดเหตุร้ายแรงมากมายเป็นต้นว่า ที่ว่าการอำเภอจอมทอง , สันกำแพง ถูกลอบว่างเพลิง นายแขวงช่างเคิ่ง(อ.แม่แจ่ม) แขวงท่าช้าง(อ.หางดง) ถูกฆ่าตาย นายแคว้นแขวงเมืองพร้าวคนใหม่กับคนเก่าก็ยิ่งกันตายบนที่ว่าการแขวง หลวงศรีพยุหสงครามต้องออกเดินทางไปทำการสื่บ จับคนร้ายมาลงโทษได้บางอำเภอโดยมีเจ้าราชวงค์(เลื่อนมาจากเจ้าราชภาคินัย)ในฐานะเจ้าบรรดาศักดิ์ มีหน้าที่ปราบปรามร่วมเป็นองค์ประธาน  ทั้งสองได้ร่วมกันออกชี้แจงให้ราษฎรรักษาที่วาการแขวงทุกแหน่ง รอนแรมไปทุกแขวงแทนข้าหลวงใหญ่พร้อมกัน ใช้เวลาหลายเดือน

     พ.ศ. 2447-2450  ระยะที่เจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) เป็นข้าหลวงประจำมณฑลลาวเฉียง (มณฑลพายัพ ในราชกาลที่ 6) ได้เร่งพัฒนาถนน ตรอก ซอยเล็กซอยน้อยให้สวยงาม ขยายถนนหลายสายในเมืองให้รถม้า , รถยนต์เล่นสวนกันได้ ปรับปรุงตกแต่งประตูเมืองทั้งหกแห่ง ตัดถนนให้ไปอำเภอต่าง ๆ รอบนอก หลวงศีพยุหสงครามต้องทำหน้าที่ในการเจรจากับราษฎร์ให้เข้าใจในการพัฒนาขยายถนน  ในการแบ่งเขตล้อมรั่วย้าน นอกจากนี้ได้ร่วมมือกับเจ้าราชวงศ์ฯ(เจ้าแก้วนวรัฐ) ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าอุปราชเมืองเชียงใหม่ ได้สร้างถนนสายน้ำปิง(ท่าน้ำปิง) ไปถึงประตูช้างม่อย ไปวัดพระสิงห์ โดยขนายให้กว้างอีกเท่าตัว ตัดถนนหน้าโรงเรียนยุพราชไปทางประตูช้างม่อย แล้วออกไปสู่ริมน้ำแม่ปิง  แล้วสร้างถนนวิชยานนท์ออกเชื่อมประตูท่าแพ ถนนเชื่อมโยงแยกไปทางประตูเมืองเชียงใหม่  แยกไปทางประตูช้างเผือก ประตูสวนดอก

   ในการเสด็จประภาสภาคเหนือของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชกาลที่ 6 ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระยุพราชสยามบรมราชกุมาร  โดยเสด็จที่จังหวัดลำปางมุ่งเสด็จไปเมืองพะเยา เมืองเชียงราย แล้วมุ่งหน้าตัดมาทางอำเภอเวียงป่าเป้า เข้าทางอำเภอดอยสะเก็ดในปี พ.ศ.2448 เจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์  ได้มอบหมายให้เจ้าอุปราชราชวง์(อินทแก้ว) กับหลวงศรีพยุหสงครามเป็นผู้อำนวนการและผู้ช่วยในการระดมแรงงานประชาชนพลเมืองควบคุมการสร้างถนน สายเชียงใหม่ไปอำเภอดอยสะเก็ดจากริมน้ำแม่ปิง  ท้้งสร้างพลับพลาให้ทรงประทับแรมที่เขตอำเภอดอยสะเก็ด เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ  ได้เบิกตัวสองผู้ก่อนสร้างถนน และพลับพลาเข้าเฝ้าถวายรายละเอียด จึงพระราชทานชื่อถนนสายนี้ว่า "ถนนแก้วนวรัฐ" และทรงได้รูเจักกับหลวงศรีพยุหส่งคราม(หนานเมือง) แต่นั้นมาว่าเป็น "ผู้เข้มแข็งต่อราชการงานเมืองของแผ่นดินเป็นอย่างมาก"
   ผลงานอีกเรื่องหนึ่งก็คือ สร้างถนนจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ไปถึง อำเภอหางดง  โดยปลูกต้นขี้เหล็กตามริมถนนสองข้างทางโดยตลอดทั้งนี้โดยร่วมกับเจ้าอุปราชอินทแก้ว(เจ้าแก้วนวรัฐ) ผู้คู่แฝดในการปฏิบัติงานนานาประการตลอดมา

   พ.ศ. 2451 หลวงศรีพยุหสงคราม ได้ยศข้าราชการพลเรื่อนเป็นรองอำมาตย์เอก เลื่อนบรรดาศักดิ์สูงขึ้น และเปลี่ยนพระราชทินนาม เป็น "พระราชนายกเสนี"

   พ.ศ. 2452 รับหน้าที่เกี่ยวกับการเงินในฐานะมีความชำนาญทางการคลัง จึงได้รับความไว้วางใจจากเจ้าพระรายาดารารัศมีให้เป็นหัวหน้าจ่ายเบี้ยเลี้ยงแก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่มาช่วยในงานฉลองอนุสาวรีย์ที่บรรจุอิฐ(กู่) ของตระกูล "ณ เชียงใหม่" ณ.วัดบุปผาราม(สวนดอก) เป็นที่เรียบร้อยตลอดเวลา 15 วัน 15 คืน
   ในปี พ.ศ. 2453  ได้ไปในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้สวรรคต

   ในปี พ.ศ. 2459  ได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพราะเจ้าอยู่หัวราชการที่ 6 ว่า "ทิพยมณฑล" ตามที่ปรากฏในพระปรมาภิไธย ดังนี้   






   "วชิราวธ ปร."

   ขอให้นามสกุลของรองอำมาตย์เอก พระราชนายกเสนี (เมือง)กรมการพิเศษนครเชียงใหม่ว่า
                    "ทิพยมณฑล" (เขียนเป็นอักษรโรมันว่า Dibyamandala) อันเป็นมงคล
              ขอให้สกุล ทิพยมณฑล มีความเจริญรุ่งเรื่อง มั่นคงอยู่ในกรุงสยามชั่วกัลปาวสาน
                                                                  พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ
                                                                วันที่ 16 กรกฎาคม พุทธศักราช 2459


  ปี พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงเปลี่ยนพระราชทินนามให้พระราชนายกเสนี เป็นพระนายกคณานุการ ได้รับบำนาญเดือนละ 187 บาท 93 สตางค์ ตลอดอายุ  ท่านได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคลมปัจจุบันเช่นคนชราทั่วไป   เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2484 รวมอายุได้ 90 ปี

   พระนายกคณานุการ (เมือง ทิพยมณฑล) ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ คือ
   1. เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย
   2. เบญจมาภรณ์ช้างเผือก
   3. จตุตถาภรณ์มงกุฎไทย
   4. เหรียญต่าง  ๆ คือ เหรียญรัษฎาพิเษก , เหรียญทวีธาพิเษก , เหรียญประพาสยุโรป ศก.116 , เหรียญรัชมังคลาภิเษก , เหรียญราชมงคล และ เหรียญบรมราชาภิเษก

   พ.ต.ท ธงชัย ทิพยมณฑล  ผู้เรียบเรียง



พ.ต.ท ธงชัย ทิพยมณฑล นับเป็นผู้รับราชการย่ำรอยเท้าของคุณปู่ (พระนายกคณานุการ) โดยแท้จริง กล่าวคือ ได้รับราชการอยู่ อ.แม่อาย ได้ขึ้นไปถึงดอยลาง ไปประจำ อ.แม่แจ่ม  ไป อ.ดอยสะเก็ต อยู่ถึง อ.แม่สะเรียง (เมืองยวม) ซึ่งเป็นสถานที่ที่คุณปู่เดินเท้าไปปฏิบัติงานแก่เจ้านายเหนือหัวของเมืองเชียงใหม่ทั้งสิ้น





ตาม(รอยเท้า)ปู่



   หลังจากทราบข่าวทางหนังสือพิมพ์ว่า พ.ต.ท.ธงชัย ทิพยมณฑล ขอประกาศเชิญชวนผู้ร่วมใช้นามสกุล "ทิพยมณฑล" ให้ไปพบปะกันที่วัดเจดีย์หลวง ในวันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้คุณปู่ คือ พระนายกคณานุการ(เมือง ทิพยมณฑล) ด้วยวัตถุประสงค์ก็คือ การรวมญาติ อุทิศส่วนกุศลให้บรรพชน และ โดยเฉพาะฟันธงว่า จะขจัดเรื่องสิ่งเสพติดให้ไกลจากตระกูลโดยเด็ดขาด

   ผู้เรียบเรียง ซึ่งต่อไปจะใช้คำว่า "ผม" จึงได้ติดตามไปพบตัว พ.ต.ท.ธงชัย ทิพยมณฑล เพื่อขอสัมภาษณ์ นำมาเรียบเรียง และบันทึกไว้เป็นประวัติต่อลูก หลาน เหลน โหลน ของวงค์ตระกูลต่อไป

   พ.ต.ท. ธงชัยฯ กล่าวถึงชีวิตของตนเองมีวิถีเดินทางในทางราชการเหมือนคุณปู่โดยไม่รู้ตัวแต่แรกเลย เมื่อครบเกษียณราชการแล้วมานั่งทำงานบนโต๊ะในบ้าน พร้อมทั้งคุณปราณี ศิริธร เวียนมาพบบ่อยครั้ง เพื่อขอภาพ ขอรูปถ่าย ขอประวัติคุณปู่ไปทำหนังสือเพชรล้านนา จึงทำให้ตนเองศึกษารับรู้ประวัติของคุณปู่ละเอียดมากยิ่งขึ้น  เรียกได้ว่า "ผมนี่ตามรอยเท้าปู่ หรือพูดคำเมืองได้ว่า ตวยก้นปู่" ตลอดชีวิตราชการ" คุณปราณี ศิริธร ก็เคยมาเอ่ยว่า "คุณปู่คุณเลื่อนตำแหน่งตามลำดับมาจนได้ศักดินา เช่นเดียวกันกับคุณใช้ความสามารถทำงานจนเป็นชั้นสัญญาบัตร" ทำให้รู้ว่า "ธงชัย" ตามก้นปู่ไปหนึ่งข้อแล้ว ข้ออื่นขอเล่าตามโดย "ธงชัย" ขอหวนระลึกถึงคุณปู่ "ป้อเจ้าอุ้ย" แต่ตอนเยาว์วัยก่อน


   จำติดตาที่บ้านย่านกลางเวียง บ้านหน้าวัดหอธรรม (ตรงข้ามประตูวัดเจดีย์หลวงด้านทิศเหนือ) คุณปู่เดินสาวเท้า มือคลำเบา ๆ ตามขอบระเบียงบ้านชั้นล่าง (ปัจจุบันยังคงเป็นระเบียงอยู่  แต่ปรับเปลี่ยนเป็นที่นั่งรับประทานอาหารของบ้าน ที่เปิดเป็นร้านอาหารฝรั่งไปแล้ว)


   คุณปู่หรือ "เจ้าอุ้ย" อายุย่างจะ 90 ปีแล้ว ดวงตาท่านมองเห็นแค่ลาง ๆ อาหารมื้อเย็น ลูก หลาน และ "ธงชัย" คนหนึ่ง นั่งต่อหน้าสำรับกับข้าว คอยตอบคำถามของคุณปู่ที่เอามือคลำขอบถ่วยแล้วถามว่า "นี่แกงอะไร ผัดอะไร" เพียงสองสามอย่างของกับข้าวที่เจ้าอุ้ยทาน พวกเราภูมิใจที่เจ้าอุ้ยทานเข้าวได้มากมาก  หลังจากนั้นก็ลุกไปเดินขอบระเบียงอีกจนกว่าจะเย็น คุณปู่ก็นั่งนับลูกประคำอยู่บนเก้าอี้หวายเป็นเวลานาน ๆ ก่อนจะลุกเข้าไปห้องนอน ด้านซ้ายของห้องโถงชั้นล่าง ขณะนี้ห้องนี้ยังคงอยู่สภาพเดิม ห้องนี้เองเป็นห้องที่ท่านได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมือ่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2484 พวกเราลูก หลาน ครอบครัวใหญ่อยู่กันที่ "บ้านออก" คือบ้านสี่แยกกลางเวียง (คุ้มบุรีรัตน์เดิม) รู้ข่าวการถึงแก่กรรมตอนเกือบสามทุ่ม  คืนนั้นก็รีบมากราบเคารพศพ และเคลื่อนสรีระร่างของคุณปู่ไปตั้งบำเพ็ญกุศลพซที่บ้านใหญ่กลางเวียง ทุก ๆ 7 วันตั้งศพบนบ้านใหญ่นี้จนครบ 37 วัน จึงเคลื่อนศพไปพระราชทานเพลิงในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2484 ที่บริเวณที่ดินหลังศาลาแดง (ห้องสมุดประชาชนเดี๋ยวนี้) ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับสุสานหายยา ลูกหลานตั้งเมรุอย่างสง่าสวยงามสมเกียรติแก่คุณปู่เป็นอย่างยิ่ง



   หลังจากท่านเล่าเรื่องของคุณปู่ เมือตอนท่านเป็นเด็ก ๆ แล้วผม(ผู้เรียบเรียง) ก็ขอสัมภาษณ์ทานต่อด้วยประวัติที่ท่านพูดว่า "ผมตวยก้นปู่แทบจะทุกพื้นที่อำเภอ ที่คุณปู่ไปและตรงตามอำเภอที่ได้ย้ายราชการไปประจำอยู่" ท่านขอสรุปให้เป็นตอน ๆ เป็นข้อ ๆ เลยทีเดียว






   ข้อแรก  ท่านให้ความกระจ่างว่า "ผมเป็นลูกชายคนที่สองของคุณพ่อสีมา ซึ่งคุณพ่อเป็นบุตรชายคนเดียวของเจ้าอุ้ย ท่านคนเดียวเท่านั้นได้เรียนหนังสือหัดอ่าน ก.ไก่ ข.ไข่ กับพระภิกษุที่วัดดวงดี เช่นเดียวกับคุณปู่" คงจะดูได้จากแผนผังเครือญาติที่เขียนลงในหนังสือนี้ ต่อจากนั้นก็เสริมว่า ด้วยบุญบารมีของคุณปู่ที่ได้รับศักดินา จึงมีรากฐานครอบครัวที่มั่นคงแต่ต้น จะอย่างไร ท่าน "ธงชัย" ก็กำพร้าบิดา ตั้งแต่เมืออายุ 13 ปี ขณะเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนปรินส์ฯ เพราะคุณพ่อสีมาถึงแก่กรรมด้วยโรคข้อสันหลังอักเสบ แต่ปี พ.ศ.2485 คุณพ่อเสียชีวิตเมืองอายุเพียง 54 ปี คุณแม่บุญปั๋น คนเดียวเท่านั้นเลี้ยงดูให้ลูกที่เหลืออยู่อีก 6 คนได้เรียน จน "ธงชัย" เรียนถึงชั้นเตรียมอุดมศึกษา(ม.7 - ม.8) ที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย(ปี 2491-2493) และไม่ยอมทนที่จะให้คุณแม่รับภาระส่งเสียให้เรียนจนถึงขั้นมหาวิทยาลัยได้ จึงบุกบั่นไปเริ่มต้นชีวิตตนเองด้วยการแอบไปสมัครเข้าไปเป็นพลตำรวจที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน  ท่านยังแอบกระซิบว่า "ทั้งเป็นการหลีกเลี่ยงการตรวจเลือกเข้าเป็นทหารด้วย" เป็นอย่างนั้นไป.. เพราะสมัยนั้นแม่ฮ่องสอนไม่มีการตรวจเลือกบุคคลเข้ารับราชการทหาร
   "ธงชัย" เป็นพลตำรวจได้เพียง 1 ปี ก็สอบเข้าไปเรียนโรงเรียนนายสิบตำรวจ รุ่นแรกได้(ปี 2494-2495) ได้รับคัดเลือกให้เป็นนักฟุตบอลสโมสร กรมตำรวจ ก็ตอนไปเรียนนายสิบนี้ จากนั้นไปช่วยราชการชายแดน เป็นตำรวจตระเวนชายแดนถึง 7-8 ปี จึงได้กลับมาอยู่ตำรวจภูธร 



เรียกว่า เป็นข้าราชการตำรวจชั้นประทวนมาด้วยดีโดยตลอด จนสอบเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรฝ่ายสอบสวนได้เมืองปลายปี 2512 และผว่านการฝึกอบรมมาหลายระดับ จนกระทั่งเลื่อนยศ และตำแหน่งเป็นสารวัตรใหญ่ ถึง 5 อำเภอ ในเวลา 9 ปี สุดท้ายเกษียณราชการเมือเป็นสารวัตรใหญ่ อำเภอแม่สะเรียง ปี 2533 "นี่ผมกลับเล่าประวัติตัวเองรึเปล่า" แต่คงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะท่านได้โยงใยขอเรียงตามประวัติคุณปู่ ที่เจ้าคุณปู่ท่านเป็นตั้งแต่ "แสนคันธโยธี" "พญาอินทโกษา" ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นประทวน พ.ศ. 2443  ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตร เป็น "หลวงศรีพยุหสงคราม" และเลื่อนขั้นเปลี่ยนราชทินนามเป็น "พระราชนายกเสนี" กระทั่งคุณปู่ได้ขอพระราชทานนามสกุลได้มาเมื่อ พ.ศ. 2459 ผู้เป็นต้นตระกูล "ทิพยมณฑล" และในปี 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเปลี่ยนพระราชทินนาม ให้พระรานายกเสนี เป็น "พระนายกคณากุการ" ประวัติตอนนี้คงประมวลได้ว่า "ธงชัย" ได้รับเลื่อนวิริยะฐานะทางราชการตามรอยคุณปู่

   พ.ศ. 2430 คุณปู่ไปชำระความเรื่อง พญาเทพบำรุง เจ้าเมืองยวม(แม่สะเรียง) กับสล่าอ่อง ซึ่งมีข้อพิพาทกัน ได้ไกล่เกลี่ยให้ปราณีปรานอมกัน และได้จัดการให้ชำระผลประโยชน์ค่าตอไม้ซึ่งค้างอยู่ที่แม่ฮ่องสอน  ส่วนหลานปู่ "ธงชัย" เอง ก็ได้ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่พื้อนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เช่นที่ช่องทางบ้านห้วยต้นนุน อำเภอขุนยวม ตั้งหน่วยอยู่ที่บ้านเมืองปอน และ สุดท้ายไปรับตำแหน่งสารวัตรใหญ่อำเภอแม่สะเรียง "ทำให้คิดถึงสมัยก่อนว่า คุณปู่ท่านคงเดินทางเท้าบุกป่าเขา นอนค้างแรมไปกลับรวม 20 วัน จนเสร็จงาน  แต่คนเป็นสารวัตรใหญ่นั่งรยนต์ไปเพียง 2-3 ชั่วโมงก็ถึง"
  พ.ศ.2432 เกิดการจลาจล ได้มีการติดตามจับกุมผู้ต่อต้านการเสียภาษี มีพญาปราบสงคราม(หนานเตชะ) และพญาคูหา แห่งบ้านถ้ำแขวงดอยสะเก็ด  "คุณปู่ผมเป็นหัวหน้าติดตามปราบปราบการจับกุมไปในเขตดอยสะเก็ด ตามไปเขตเมืองพร้าว คือ อำเภอพร้าว ส่วนผมจบโรงเรียนนายสิบ ปี 2495-2496 ก็ไปฝึกอาวุธพิเศษที่ค่ายจอหอ นครราชสีมา บรรจุเป็นตำรวจรักษาดินแดน  ต่อมาเปลี่ยนเป็นตระเวนชายแดน ได้ย้ายเข้าไปปราบขบวนการขนฝิ่นที่ อำเภอพร้าว อยู่ร่วม 8 เดือน จึงย้ายไปอยู่อำเภอขุนยวม และ หนานเตชะ หนีไปดอยลาง เมืองฝาง ผมก็เป็นสารวัตรใหญ่ดอยสะเก็ต ไปย่ำรอยเท้าท่านที่บ้านถ้ำมาแล้ว รวมทั้งไปเป็นสารวัตรใหญ่แม่อาย ก็เคยไปทำงานบนดอยลาง อีกทั้งจับโจรที่จี้เครื่องบินบริษัทการบินไทย ได้ที่บ้านหล่ายอาย บนดอยลางนี้เอง"

   นับว่าย่ำตามรอยเท้าปู่แน่นอน และเสริมต่อว่า "ที่จะมากเกินคุณปู่ก็ตอนย้ายไปปราบโจนจีนอยู่ เบตง ปี 2499-2501" ซึ่เป็นการไปปฏิบัติราชการ ดชด. ปี 2502 จึงกลับมาอยู่ตำรวจภูธรแม่ฮ่องสอน"
   พ.ศ.2441 คุณปู่พร้อมด้วยเจ้าแก้วนวรัฐ ขณะเป็นเจ้าอุปราชเมืองเชียงใหม่ เป็นแม่แฮงทำถนนจากเชียงใหม่ ถึงดอยสะเก็ด ซึ่งต่อมาให้ชื่อว่า "ถนนแก้วนวรัฐ" และคุณปู่ได้เป็นแม่กองสร้างพลับพลาที่ประทับรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 6 ขณะดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  ที่ตำบลเวียงป่าเป้าซึ่งเส้นทางเชียงใหม่ ดอยสะเก็ต ไปเชียงรายก็เป็นเส้นทางที่สารวัตรใหญ่ "ธงชัย" รับผิดชอบ เช่นเดียวกันในการรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 9 ตลอดจนพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันสมัยยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ที่เสด็จศูนย์ฯ ห้วยฮ่องไคร้ หลายครั้งหลายคราด้วยกัน ก็คงย่ำรอยคุณปู่อีกเหมือนกัน

   พ.ศ. 2454 ราษฎรในท้องที่ อำเภอฮอด อำเภอแม่แจ่ม เกิดทุขพิกขภัย เพราะฝนแล้ง ทำนาไม่ได้ผล คุณปู่ได้เป็นเจ้าพนักงานจัดข้าวเปลือกไปแจกจ่ายแก่ราษฎรที่อดอยาก ถึงเขตแม่แจ่ม ท่านว่า "ผมก็เป็นคนหนึ่งที่มีส่วนไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรชาวแม่แจ่มจากภัยน้ำท่วมใหญ่ครั้งหนึ่ง และโดยเฉพาะไปช่วยให้ภัยจากผู้หลงผิด(ผู้ก่อการร้าย) ไปยุยงส่งเสริมให้ราษฎรเห็นผิดเป็นชอบ ผมต้องต่อสู้แทบจะถึงชีวิต เมื่อปะทะและถูกซุ่มยิง ผมเชื่อมั่นเหลือเกินว่า ดวงวิญญาณของคุณปู่ได้ติดตามช่วยเหลือผมขณะนั้น เพราะนอกจากตอนถูกระดมยิงนั้น ผมไหว้วอนบุญคุณพระพุทธเจ้า พระบารมีในหลวง แล้วแน่นอนที่ได้พร่่ำวอนถึง คือบุญบารมีของบิดามารดา รวมทั้งปู่ย่าผู้วายชมม์ ก็ทำให้แคล้วคลาดการเสียชีวิตในครั้งนั้นได้"


   ผม(ผู้เรียบเรียง) ขอสรุปเป็นตอน ๆ ตามที่ท่าน "ธงชัย" ให้สัมภาษณ์มาแต่ต้น โดยย่นย่อเพียงเท่านี้ ได้เรียนถามแล้วปรากฏว่าชีวิตราชการเมื่อมีตำแหน่งสูงขึ้น ก็อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และแม่ฮ่องสอน เท่านั้น เช่นที่ อ.จอมทอง อ.แม่แจ่ม อ.แม่อาย อ.ดอยสะเก็ด อ.ห้างฉัตร และ อ.แม่สะเรียง แต่ละแห่งต้องรับผิดชอบทั้งคดีความ การปกครองดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา และประชาชนทั่วไป ด้วยดีตลอดมา ไม่มีเหตุด่างพร้อยต่อหน่วยงาน หรือ กรมตำรวจแต่อย่างใด
   "คิดแล้ว อาจเป็นไปได้ที่ได้รับการเล็งเห็นของเจ้าอุ้ย คุณปู่ ก็เป็นได้ ผ่านภัยพ้นอุปสรรคในการงานมาตลอด ทั้ง ๆ ที่บางครั้ง หาทางออกแทบไม่ได้ แต่ก็สำเร็จลุล่วงในที่สุด"
   "ธงชัย" ได้ดูคำเรียงก่อนลงพิมพ์แล้ว  ถึงต่อว่า"ดูแล้ว กลางเป็นการเล่าประวัติของผมไปด้วยเลยนะ" และเสริมว่า ตอนนี้(ณ.วันพิมพ์)อายุ 74 ปีเข้าแล้ว จึงพอจะระลึกถึงสมาชิก ลูก หลาน เหลน โหลน ผู้ใช้นามสกุล "ทิพยมณฑล" ให้ทราบแล้วกระมังว่า การมีชีวิตอย่าง "เจ้าอุ้ย" ที่มีชีวิตอยู่ด้วยการทำงานที่ขยันหมั่นเพียร รู้รักษาตนเอง ศึกษาหาความรู้ทุกแขนง ชื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่การงาน และบุคคลทั่วไป ทั้งเป็นผู้อ่อนน้อม สุภาพต่อประชาชนด้วยดี นำพาให้ได้ย้ายไปรับราชการในพื้นที่ ที่ไม่ถึงดี หรืออำเภอใหญ่ แต่ก็เป็นไปอย่างถูกต้องสมบูรณ์ ไม่ได้ถูกโยกย้ายสับเปลี่ยนด้วยการอันมิชอบแต่อย่างใด" ยังมี "เทวดา"(ผู้บังคับบัญชาบางท่าน) เห็นการ "ทำงาน" โดยเนื้อแท้ของผม ทำให้เป็นไปได้ถึงตำแหน่งขั้นสุดท้าย พอดีกับอายุเกษียณราชการ ก็พอใจแล้ว

  "ในที่สุด ขอเรียนว่ ผมภูมิใจในคุณปู่ ผู้เป็นบรรพบุรุษต้นตระกูล เป็นอย่างมาก และก็พอใจในตนเอง ที่ดำรงวงค์ตระกูล มาด้วยดีตลอดมา"


  "ธงชัย" หลานของคุณปู่ พระนายกคณานุการ หรือ หนานเมือง ทิพยมณฑล กล่าวส่งท้าย  ด้วยประการฉะนี้

ไพรัตน์ .. ผู้เรียบเรียง







การดำรงวงค์ตระกูล
 บัญญัติ อินทรธนู
อดีต ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการศึกษา
ศาสนาและวัฒนธรรม เขตการศึกษา 8

   เมื่อ พ.ต.ท.ธงชัย ทิพยมณฑล  พี่ชายที่กระผมเคารพนับถือยิ่ง เป็นญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งขอร้องให้เขียนบทความเรื่อง การดำรงวงศ์ตระกูล เพื่อลงในหนังสือ  สารอนุสรณ์ตระกูลทิพยมฑล  แจกจ่ายแก่ผู้มาร่วมงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ เจ้าอุ้ย และญาติในตระกูลผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยความเป็นจริงกระผมไม่ได้กำหนดในตระกูลนี้แต่เกี่ยวดองเป็นเขย เมื่อกระผมรักชอบคุณจันทรเทพ ทิพยมณฑล จนกระทั่งแต่งงานเป็นครอบครัวกัน ทราบแต่เพียงว่าเธอมาจากครอบครัวที่ได้รับพระราชทานนามสกุล จากล้นเกล้า ฯ  รัชกาลที่ 6  รายละเอียดดูได้จากพระบรมราชโองการที่ปรากฏอยู่ในเอกสารเล่มนี้


   ณ. บ้านเลขที่ 127 ถนนพระปกเกล้า เมืองเชียงใหม่  เป็นบ้านที่อยู่อาศัยของ พ.ต.ท. ธงชัย ทิพยมณฑล  หลังเดิมสร้างมานาน  ชำรุดยากจะซ่อมแซมให้ดี ได้รื้อสร้างใหม่สวยงามมาก จากอาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร(ลูกหลานในตระกูลทิพยมณฑล) เป็นผู้ออกแบบคุมการก่อสร้าง บ้านหลังนี้สร้างเสร็จในปี 2528 ยังคงใช้บ้านเลขที่เดิมแต่เพิ่มชื่อบ้านเป็น คุ้มทิพย์  
และที่สำคัญคือ การทำป้ายทองเหลือง(พระบรมราชโองการตั้งนามสกุล) นำมาติดไว้ที่ตัวบ้านเห็นเด่นชัด 





 แสดงถึงเจตจำนงของเจ้าของบ้าน  ที่จะยกย่องเชิดชูบูชาบรรพชนผู้ให้กำเนิดตระกูล  และคิดว่าจะใช้เป็นเครื่องเตือนใจ ให้สติแก่ผู้อยู่อาศัย ญาติพี่น้อง แขกผู้มาเยือน ให้ได้ตระหนักสำนึกถึงพระคุณของบุพการี มีแนวทางดำรงชีวิต ดำรงตนให้เหมาะให้ควรแก่การเป็นลูก หลาน เหลน ที่ดี ถือได้ว่าเป็นกุศลโลบายที่ชาญฉลาดของเจ้าของบ้าน  ป้ายทองเหลืองท้้งแผ่นนั้น เป็นจิตวิญญาณของบ้านที่มีรูปทองสวยงาม หรือจะกล่าวได้ว่าเป็นบ้านที่มีชีวิตจิตใจ ให้ความสุขแก่ผู้อยู่อาศัย และพบเห็น 




   ทุก ๆ ปี ลูก หลาน เหลน ในชั้นต่อ ๆ มาของเจ้าอุ้ย จะร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปถึงท่าน 
ในปีแรก ๆ ที่กระผมมาเป็นเขย ไปร่วมงานทำบุญนี้ ลูก หลาน เหลน ทุกคน จะกล่าวขานถึง พระนายกคณานุการ ว่าเจ้าอุ้ย คำว่าอุ้ย นั้นพอเข้าใจง่าย  หมายถึง ปู่ ย่า ตา ยาย แต่เมื่อเดิม คำว่า เจ้า นำหน้า จึงเกิดความสงสัยว่าท่านเป็นเจ้าทางสายใด  ซึ่งเชียงใหม่ในสมัยก่อนมีเจ้าเมืองปกครอง ผู้สืบเชื้อสาย จะใช้นามสกุล ณ.เชียงใหม่ กลับไปอ่านประวัติของท่านใหม่อีกหลายครั้ง ก็ไม่พบว่าเป็นเจ้าสายใด



 แล้วทำไมจึงเรียกท่านว่า เจ้าอุ้ย ไม่กล้าถามใคร โดยเฉพาะลูกหลานของท่าน เกรงจะเป็นการดูถูกไม่เคารพท่าน จนกระทั่งวันหนึ่งขณะรับราชการอยู่ กระผมได้รับมอบหมาย ให้ร่างคำกล่าวถวายรายงานแด่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อให้สามารถให้คำราชาศัพท์ได้ถูกต้อง จึงไปศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร ได้ความรู้เรื่องสมณศักดิ์ พระราชาคณะในชั้นต่าง ๆ ตั้งแต่พระราชาคณะ ชั้นสามัญ ชั้นราช ชั้นเทพ ชั้นธรรม ชั้นรองสมเด็จ ชั้นสมเด็จ และชั้นสมเด็จพระสังฆราช(เจ้า) ในแต่ละชั้น ใช้คำสุภาพ สรรพนามบุรุษที่ 2 แตกต่างกันออกไป เช่น ชั้นสามัญ ชั้นธรรม ใช้คำว่า เจ้าคุณ เจ้าคุณพระ ชั้นรองสมเด็จ และชั้นสมเด็จ จะใช้คำว่า เจ้าพระคุณ เจ้าพระคุณสมเด็จพระ และสมเด็จพระสังฆราช ใช้คำว่า เจ้าพระคุณ   เจ้าพระคุณสมเด็จพระ และสมเด็จพระสังฆราช ได้ใช้คำว่า เจ้าประคุณสมเด็จพระ  เช่นนี้เป็นต้น สำหรับข้าราชบริภารก็จะมีฐานันดรศักดิ์จะโดยกำเนิด หรือการแต่งตั้ง ก็มีลำดับขั้นตอน โดยเฉพาะจากประชาชน หรือข้าราชการผู้ประกอบคุณความดีให้ปรากฏ ก็จะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เช่น ขุน หลวง พระ พระยา สมเด็จเจ้าพระยา ผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เหล่านั้น ก็ใช้คำสุภาพสรรพนามบุรุษที่ 2 แตกต่างกันออกไป เช่น ท่านขุน คุณหลวง เจ้าคุณพระ  เป็นต้น
   หลังจากหนานเมือง เข้ารับราชการ อยู่ในราชสำนักเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ ได้แต่งตั้งและเลื่อนบรรดาศักดิ์ ตามลำดับเป็น แสนคันธโยธี พญาอินทโกษา  พญาจ่าบ้านบุราวาน และ พญาสามล้านศิริโยธา ด้วยความดีความชอบกระทรวงมหาดไทยจึงของพระราชทานบรรดาศักดิ์ แต่งตั้งเป็นข้าราชการศัญญบัตรที่ หลวงศรีพยุหสงคราม ในปี 2443 และด้วยความสามารถงานราชการสำคัญ ได้รับยศข้าราชการพลเรือนเป็นรองอำมาตย์เอก เลื่อนบรรดาศักดิ์สูงขึ้นในราชทินนาม  พระราชนายกเสนี ในปี 2451 และในปี 2461 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นพระนายกคณานุการ กรมการพิเศษจังหวัดเชียงใหม่  บรรดาศักดิ์สุดท้ายได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 จึงต้องใช้คำสุภาพสรรพนามบุรุษที่ 2 กับท่านว่า เจ้าคุณพระนายกคณานุการ  แต่ด้วยตัวท่านเป็นคนเมืองเชียงใหม่โดยกำเนิด มีลูก หลาน มากมาย ก็เรียกท่านว่า อุ้ย แล้วนำคำสุภาพบรรดาศักดิ์อันมีเกียรติยิ่งคำแรกมาเพิ่มเข้าข้างหน้าเป็น เจ้าอุ้ย  กว่าจะเข้าใจหายข้อสงสัยก็เสียเวลานาน  ไปสอบถามผู้รู้ท่านก็ยืนยันเช่นเดียวกัน

   การที่เราท่านทั้งหลาย ดำรงตนอยุ่ได้ในขณะนี้ จำเป็นต้องทราบแหล่งกำเนิดที่มาของตนเอง ที่แตกต่างกัน 
   แล้วดำรงวงศ์ตระกูลนั้นไว้ด้วยการศึกษาเล่าเรียนหาความรู้เป็นพื้นฐาน และค้นหาความถนัดในแขนงวิชาการเฉพาะ ฝึกฝนตอนเองให้พร้อม "เป็นเบี้องต้น"
    เจริญเติบโตพอแก่การประกอบอาชีพ มีวุฒิภาวะเหมาะสมพอใจการมีคู่ครอง สร้างฐานะให้เกิดสุขสมดุลย์แก่ครอบครัว ส่งเสริมหรือช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวให้ดำเนินชีวิต ครองตัว ครองตนไปได้ด้วยดี ช่วยเหลือสังคมส่วนรวมชาติบ้านเมืองให้เต็มกำลัง  "อันเป็นช่วงกลางของชีวิตมนุษย์"
    จากนั้นก็เป็นการปฎบัติตนเช่นผู้รู้ ของครอบครัว ชุมชน เป็นคนชี้แนวทางที่เหมาะสม ชี้นำการสืบทอดทางวัฒนธรรมอันเป็นมรดกทางสังคม มอบภาระกิจอันควรแก่คนรุ่นต่อ ๆ ไป "นี้เป็นบั้นปลายของชีวิตที่ดำเนินดีแล้ว"  นั้นเป็นทั้งผู้สร้าง และผู้ดำรงตระกูลที่เหมาะสม

   ดังได้กล่าวแล้ว่าคนเราเกิดมาจากครอบครัวที่แตกต่างกัน การดำรงวงค์ตระกูลก็จะเป็นรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม เรามักจะได้รับการอบรมสั่งสอนให้เป็นอภิชาตบุตร  บุตรที่ยิ่งกว่าตระกูล หรือบุตรที่มีคุณสมบัติดีกว่าตระกูลและอย่างน้อยก็ให้เสมอตระกูล  ดังนี้แล้วทุกคนจึงควรศึกษาประวัติควาเป็นมาของต้นตระกูล เพื่อการดำรงค์ตระกูลได้ถูกต้องเหมาะสมบางท่าน บางคนไม่ทราบที่มาของตนเอง ไม่ทราบแม้แต่พ่อแม่ตัวเองเป็นใครมาจากไหน การไม่ทราบเช่นนี้จึงเป็นการยากที่จะหารูปแบบตัวอย่าง 
   โชคดีที่ตระกูล ทิพยมณฑล ทราบประวัติความเป็นมาของตระกูลเป็นอย่างดี ทั้งด้วยการรวบรวมบันทึกของลูกหลานเป็นหลักฐาน และการนำเสนอประวัติผลงานของบุคคลต้นตระกูล นักเขียน(คุณปราณี ศิริธร)ลงพิมพ์ในหนังสือ ไทยนิวส์รายวัน  ติดต่อกันหลายฉบับ หลายตอนกว่าจะจบ ในหัวข้อเรื่อง พระยานานกคณะนุการ (เมือง) ขุนพลแก้วแห่งพระนครเชียงใหม่ราชธานี  ผู้เป็นต้นตระกูล ทิพยมณฑล จึงไม่เป็นการยากเลยที่บรรดาผู้สืบสกุลทั้งหลาย สายตรง สายอ้อม และสายเกื้อหนุน

 (สายตรงนั้นได้แก่ ลูก หลาน เหลน ที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขโดยตรงจากคุณพระนายกคณานุการ  สายอ้อม คือบรรดาเครือญาติทั้งสองฝ่าย ของเจ้าอุ้ย  สายเกื้อหนุน ได้แก่บุคคลผู้ที่เจ้าอุ้ยให้การอุปถัมภ์คำจุน)  

จะต้องเป็นผู้ดำรงวงศ์ตระกูลให้ดีที่สุด  สืบทอดเจตนาของผู้เป็นต้นตระกูล  ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงการรู้คุณ ตอบแทนบุญคุญของผู้มีพระคุณ จะยังความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ตัวตน อันเป็นเครื่องหมายของคนดี
    ตามพุทธพจน์ที่ว่า  นิมิตต สาธุรูปาน  กตญญู  กตเวทิตา  กตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี
 
   ในเอกสารเล่มนี้ ตอนต้อนได้กล่าวถึงประวัติ พระนายกคณานุการ ไว้โดยละเอียดแล้ว ขอได้พิเคราะห์พิจารณาดูเถิดว่า เจ้าอุ้ยเป็นบุคคลสำคัญอย่างไร จนได้รับพระราชทานนามสกุล

    แต่สำหรับกระผมขอนำเอาบทสรุปของ คุณปราณี ศิริธร ที่ลงพิมพ์ในหนังสือ "เพชรล้านนา" ถึงเจ้าคุณพระนายกคณานุการ ตามฉายานักพัฒนาท้องถิ่น นักการทหาร นักการฑูต นักการคลัง มือปราบ คู่หูร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเจ้าแก้วนวรัฐเป็นประเด็นเพื่อรุ่นหลาน เหลน และรุ่นต่อไปพึงตระหนักกิจอันใดที่เจ้าอุ้ยประพฤติปฏิบัติดีแล้ว ถ้าเรามีความสามารถในหลาย ๆ ด้าน หรือด้านหนึ่งด้านในที่ตรงกับท่าน ก็มีแบบอย่างที่ดีแล้ว นำมาปฏิบ้ติได้เลย หรือปรับปรุงให้เหมาะกับกาลสมัย หากเรามีความสามารถ ในกิจการอื่นที่ไม่ตรงกับภารกิจของท่าน ก็สามารถนำคุณธรรมของท่านมาใช้กับกิจการของเราได้เช่นกัน
    
โดยประวัติจะเห็นว่า เจ้าอุ้ย เป็นคนขยัน มีความตั้งใจสูงตั้งแต่เด็ก
    เป็นนักสะสมข้อมูล นำข้อมูลมาวิเคราะห์ให้ข้อเสนอแนะแก่เจ้านาย ไปปฏิบัติได้ดีทุกครั้ง  ไม่ว่างานนั้นจะหนักเบาเพียงใด
    เป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อเจ้านาย  ด้วยความจงรักษ์ภักดีนี้ เจ้าอุ้ยจึงเป็นบุคคลผู้ประสานประโยชน์ ให้เกิดกับบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี
   เป็นผู้มีจิตเมตตาเอื้ออารี เมื่อเจ้าอุ้ยได้รับพระราชทานนามสกุลจากล้นเกล้าฯ รัชการที่ 6 ท่านมีเมตตาจิตกับญาติทุกฝ่าย กับบุคคลที่เกื้อหนุนใกล้ชิดท่าน ไม่ว่าใกล้ไกล ให้ใช้นามสกุล ทิพยมณฑล ซึ่งเป็นนามสกุลเสมอท่าน  คุณธรรมอื่นก็มีอีกมาก  ลองศึกษาเพิ่มเติมได้อีก เพียงท่านนำคุณธรรมเหล่านั้นมาเป็นเครื่องดำเนินกิจการของท่านก็หวังได้แล้วว่า ท่านเจริญแน่ ๆ
  
  ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิธีการ ดำรงวงศ์ตระกูลทิพยมณฑล  ได้เป็นอย่างดีแล้ว และมีแนวทางอื่นอีกมากมายหลายรูปแบบต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำหรือจะร่วมคิดแยกกันทำ  ร่วมคิดร่วมทำเช่น  การทำบุญอุทิศส่วนกุศลประจำปี  ข้อควรคำนึงเพียงอย่างเดียวว่า การกระทำนั้น ๆ ไม่เป็นการผิดศีลธรรม ผิดกฎหมายบ้านเมือง และก่อให้เกิดผลเสียหายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น  ก็เป็นการดีที่สุดแล้ว การกระทำใดที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว  แต่ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประโยชน์ท่านด้วย ก็ยิ่งเป็นวิธีการดำรงวงศ์ตระกูลให้มั่นคงเหนียวแน่นยิ่งขึ้น กาลต่อไปความกว้างไกลของตระกูลมีมากขึ้น  ข่าวสารใดที่ทราบว่าคนในตระกูลคนหนึ่งคนใด กลุ่มใด ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ยังความยินดีมาสู่บุคคลอื่นในตระกูลนี้ นั่นก็อีกรูปแบบหนึ่งในการดำรงวงศ์ตระกูล
   
   กระผมผู้เขียนรู้สึกเป็นเกียรติ  และภูมิใจยิ่ง ทีได้มีโอกาสเข้าเป็นสมาชิกของตระกูลนี้ เมื่อใดที่พบกับเจ้านายฝ่ายเหนือ พระเถระผู้ใหญ่และบุคคลดั้งเดิมของบ้านเมือง ทราบว่ากระผมเป็นเขยของตระกูลทิพยมณฑล ต่างก็แสดงความชื่นชมยินดี กล่าวชื่นชมตระกูลนี้ กระผมจะได้ความเมตตา ความเชื่อถือจากท่านเหล่านั้น อันเป็นอานิสงส์ที่มาจากความดีงามของตระกูล กระผม ภรรยา และลูก ๆ ตั้งใจที่จะร่วมกันดำรงวงศ์ตระกูล ทิพยมณฑล ให้ดีที่สุดตลอดไป



ข้อกำหนด เพื่อผู้ดำรงวงศ์ตระกูล "ทิพยมณฑล"
    การดำรงชีพของแต่ละบุคคล และการประพฤติปฏิบัติส่วนตัว ย่อมไม่มีผู้ใดจะออกข้อบังคับ หรือระเบียบแบบแผนมาใช้บังคับได้
    แต่ผู้ที่ตั้งมั่นจะดำรงวงศ์ตระกูล "ทิพยมณฑล" ควรระลึกถึงศักดิ์ศรี ของวงศ์ตระกูล จึงมีข้อกำหนดอันไม่ขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ แต่อย่างใด ดังนี้

     1. เป็นผู้ดำรงชีพ ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ลด ละ เลิก สิ่งอบายมุข  เพื่อการรับภาระครอบครัวต่อไป
     2. เป็นผู้รับผิดชอบต่อครอบครัว มีความขยันหมั่นเพียร สั่งสอนบุตรธิดาให้เป็นครอบครัวที่มีแต่ความอบอุ่น ดีงาม
     3. เป็นผู้ยึดมั่นต่อศาสนา ซึ่งเป็นหลักให้ตนประพฤติดี โดยเฉพาะพุทธศาสนา  ที่บรรพชนนับถือต่อมาจนปัจจุบัน
     4. การประพฤติปฏิบัติในทางผิดกฏหมาย กระทั้่งถูกศาลตัดสินจำคุก ย่อมทำความเสื่อมเสียมาสู่วงศ์ตระกูล

    พ.ต.ท.ธงชัย ทิพยณฑล
    ผู้เสนอข้อกำหนด


ประกาศ รวมญาติตระกูล "ทิพยมณฑล" 
(ครั้งแรก)วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม 2547 ตั้งแต่เวลา 10.00 น.
   เป็นวันทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ พระนายกคณานุการ (เมือง ทิพยมณฑล) ที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร  อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่  อันเป็นวาระแห่งกตัญญุตาบุญที่จักกระทำเป็นประจำทุกปีตลอดมา  สำหรับปีนี้ตามวันเวลาดังแจ้งข้างต้น
   ขอเชิญผู้ร่วมใช้หรือเคยใช้นามสกุล  ทิพยมณฑล ไปร่วมงานนี้ให้จงได้  เพื่อประสานสัมพันธ์ฉันท์ญาติพี่น้องและสืบสานการดำรงของวงศ์ตระกูล  ให้จรรโลงอยู่ด้วยคุณธรรมและจริยธรรมอันดีงามสืบไป

พ.ต.ท.ธงชัย ทิพยณฑล
127 พระปกเกล้า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
โทร 053-222-602(ณ.ตอนนั้น)


ท้ายเล่ม

 การคัดเลือกภาพ มาทำเป็นปกหน้า-หลัง ได้พิจารณาเอาสถานที่สำคัญเกี่ยวกับเจ้าอุ้ย ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยประจำ กับสถานที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศล เป็นหลัก ด้วยความเอื้อเฟื้อจาก ดร.จุลทัศน์ กิติบุตร และอาจารย์สมมิต ทิพยมณฑล ในชั้นเหลนของเจ้าอุ้ย  รับเป็นภาระช่วยเขียนภาพลายเส้นดูสวยงามมาก

บ้านตก*--เป็นบ้านอยู่อาศัย ปัจจุบันตั้งอยู่บ้านเลขที่ 70 ถนนราชดำเนิน เจ้าอุ้ยพักอาศัยอยู่บ้านหลังนี้จนถึงแก่กรรม และเป็นมรดกตกทอดมาถึงชั้นเหลน ได้พักอาศัย ดำเนินกิจการมาถึงขณะนี้
บ้านออก*--เป็นบ้านตั้งศพบำเพ็ญกุศล เมื่อเจ้าอุ้ยถึงแก่กรรมแล้วเดิมเป็น คุ้มบุรีรัตน์ ในเวลานั้นเป็นที่อยู่อาศัยของลูก ๆ หลาน ๆ  ที่เป็นครอบครัวใหญ่ ปัจจุบันตั้งอยู่บ้านเลขที่ 117 ถนนราชดำเนิน และได้มอบบ้านหลังนี้ให้กับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2544 เพื่อให้คงอยู่เป็นศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา ตลอดไป


    การที่เรียกบ้านตก บ้านออก เอาสี่แยกกลางเวียงเป็นศูนย์กลางบ้านทั้งสองหลังที่อยู่ใกล้กัน ฝากลูกหลานในตระกูล ทิพยมณฑล ทุกสาย เมื่อรำลึกถึงเจ้าอุ้ย ผู้เป็นต้นตระกูล ก็มองเห็นบ้านสองหลังนี้อย่างเป็นรูปธรรม

สาร อนุสรณ์ต้นตระกูล ทิพยมณฑล เล่มนี้ ด้วยความพยายามของ พ.ต.ท.ธงชัย ทิพยมณฑล หลานชายเจ้าอุ้ยคนหนึ่ง รำลึก รวบรวมเรียบเรียง หลังจากเกษียณอายุ
ราชการแล้ว
อาจารย์อดุลย์ศักดิ์ วงศ์โกมลเชษฐ์ หลานเขย รับหน้าที่เป็นผู้จัดพิมพ์ต้นฉบับ เพื่อแจกจ่ายให้ทันเวลาจัดงานบำเพ็ญกุศล ประจำปี 2547 


                                                                       
วัดเจดีย์หลวง



                                                               


ศาลาว่าการมณฑลพายัพ อาคารประวัติศาสตร์ ศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรล้านนา เป็นสถานที่ว่าราชการมาหลายยุคหลายสมัย ภายหลังเปลี่ยนเป็นศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อหน่วยงานราชการต่าง ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นทำให้คับแคบ จึงย้ายศาลากลางจังหวัดไปอยู่ตำบลช้างเผือก ถนนโชตนาทางไปอำเภอแม่ริม เมื่อ พ.ศ.2539 ปัจจุบันอาคารศาลากลางเชียงใหม่ คืออาคารที่ตั้งอยู่หลังอนุสาวรีย์สามกษัตรย์ แต่ได้ถูกดัดแปลงเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาแห่งอดีตอันรุ่งโรจน์ ของอาณาจักรล้านนา หัวเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการค้า การปกครองของภูมิภาคตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน 



















2017年8月27日日曜日

สัญญา......ตอนเช้ามืด

"แม่คะ มดไปใส่บาตรก่อน เดี๋ยวกลับมานะ"

แล้วก็ถือถุงข้าวสวย และกับข้าว ขนมหวานที่แม่เตรียมให้
เดินออกจากบ้านไปคอยพระจากวัดต่าง ๆ รอบบ้านแถวนั้น
บ้านมดอยู่ใกล้กับ"อนุสาวรีย์สามกษัตริย์"มีวัดอยู่รายรอบ
มีพระหลายรูปเดินผ่านเสมอทั้งขาไปและกลับ..
มดถอดรองเท้า ใส่บาตรด้วยปัจจัยที่เตรียมไว้จนถึงพระสงฆ์รูปสุดท้าย

"ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนกุศลให้กับ คนงานก่อสร้างเสียชีวิตในบริษัทข้าพเจ้าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อได้รับส่วนบุญนี้แล้วขอให้ไปสู่สุคติ อย่าได้เบียนเบียนซึ่งกันและกันอีกเลย"

รู้สึกโล่งในอก
"ฉันทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ตามสัญญาแล้ว อย่าทำให้เขาบาดเจ็บมากกว่านี้อีกเลยนะ "
แล้วก็เก็บภาชนะเดินเข้าบ้าน....

วันศุกร์ที่แล้ว..
หลังจากที่ได้สังเกตุอาการช้ำที่หน้าผาก ประธานชาวญี่ปุ่น มาหลายวัน
แต่ดูวันนั้น อาการช้ำดูบวมเบ่ง ช้ำเลือด ขยายเป็นบริเวณกว้างมากขึ้นจนน่ากลัว
จนต้องเอ่ยปากถาม..

"社長 御でこどうしましたか?" ประธานคะหน้าผากเป็นอะไรคะ?
"垂れてた とても痛い"       มันบวม เจ็บมาก ๆ
"どうして?何かぶつかりましたか" ทำไมคะ ไปโดนอะไรมาหรือคะ?
"うん・・毎朝、そこに通ると、その木に当たっちゃうんだよ" เออ...ทุกเช้า ตอนเดินผ่านที่นั่นจะชนกับไม้นั่นทุกทีน่ะ

ประธานมักมาถึงบริษัทแต่เช้า เพื่อเดินดูผลงานของวานนี้ก่อนพนักงานเสมอ

มดมีหน้าที่สารพัดในบริษัทญี่ปุ่นแห่งนี้ บริษัทผลิตกรอบหลุยส์ส่งออกยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ
มดรับผิดชอบกระบวนการสุดท้าย คือตกแต่งกรอบ เช็คคุณภาพก่อนประกอบ จนเพคกิ้ง วัน ๆ อยู่ในชุดเอี๊ยมมือและเล็บดำปี๋ หน้าตาก็มอมแมม เสื้อผ้าเปื้อนทั้งฝุ่น สี เลคเกอร์ แชล็ค บวกแป้งติดจนเป็นคราบแข็ง ๆ กลับบ้านแบบนี้ทุกวัน บริษัทตอนนั้นคนงานยังไม่ชินต้องสอนเทคนิค ใช้แป้งสี พ่นกาว แชล็คเคลือบด้วยปืนพ่นต่าง ๆ มากมายทุกวัน ตามทักษะที่ได้เรียนรู้ตอนไปฝึกงานที่ญี่ปุ่นคราวนั้น
  หนักกว่านั้นมดยังทำหน้าที่พนักงานขับรถ ล่าม และช่างถ่ายรูป พนักงานต้อนรับ ฯลฯ สารพัด
เพราะทำงานได้หลากหลายเลยทำให้ต้องใกล้ชิด ติดต่อปรึกษาหารืองานกับประธานบริษัทมากเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ

ตอนนั้นบริษัทเรา กำลังสร้างอาคาร 2 ชั้นเพิ่ม  ช่วงนั้นมีการผลิตในอาคารหลังแรกอยู่แต่ไม่มากมายนัก และได้ข่าวว่าในวันหยุดได้มีคนงานชายตกลงมาจากชั้น 2 เสียชีวิต สาเหตุเพราะใส่รองเท้าแตะเปียกน้ำ ทำให้ลื่นพลัดตกลงมา ศีรษะกระแทกพื้นเสียชีวิตทันที
สัปดาห์ที่ผ่านมา คนงานก่อสร้างจึงทำไม้กั้นขวางไว้เพื่อไม่ให้ใครผ่านหรือเดินข้าม เพราะเป็นจุดที่คนงานชายเสียชีวิต(ได้ยินว่าคนไทยเราถือว่าจิตเขายังตกอยู่ที่เสียชีวิตนั้น จึงไม่ให้ใครเดินข้าม)
แต่มาคิดดูว่าช่องเสาอาคารเรียงกันตั้งสิบกว่าช่อง มีช่องสุดท้ายช่องเดียวที่มีไม้พาดขวางไว้
แต่ประธานก็ไม่เดินผ่านช่องอื่น นอกจากช่องที่มีไม้กั้นไว้ช่องนี้ ในทุก ๆ เช้า

มดซักต่อเรื่อย ๆ ถึงรู้ว่า
รอยบวมที่หน้าผากที่ปูดมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เพราะ เขามักเดินก้มศีรษะลอดผ่านไม้ที่กั้นไว้ แต่ก้มไม่พ้น 
หน้าผากเลยกระแทกโดนไม้ทุกวันร่วมอาทิตย์หนึ่งแล้ว

 "ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมต้องเดินผ่านตรงนั้น พอจะก้มลงก็ลอดก็ไม่พ้น หน้าผากจะต้องชนกับไม้นั่นทุกที" 

ได้ยินแล้วก็ให้รู้สึกสงสาร มิน่าเล่า เพราะเดินผ่านที่ช่องนี้เป็นอาทิตย์ หน้าผากเลยชนที่เดียวจน บวม ปูด แดง ขึ้นเรื่อย ๆ

เวลามีเรื่องสีเทาแบบนี้มดมักเงียบไว้ ไม่ได้พูดคุยหารือกับเพื่อนร่วมงานแม้แต่คนเดียว
เพียงหลังเสร็จงานวันนั้นมดโทรบอกแม่เตรียมของใส่บาตรเอาไว้ให้ และ เย็นวันนั้นก่อนจะขับรถพาเพื่อน ๆ กลับเข้าเชียงใหม่กัน
มดเดินไปยังจุดเกิดเหตุ ตรงช่องที่มีไม้กั้นขวางอยู่ มองจุดที่เขาเสียชีวิตได้สัญญากับจิตของเขา ณ.ตรงนั้น โดยมากจะตั้งจิตให้ นิ่ง ๆ หายใจลึก ๆ ยืน หลับตาเอาใจพูดกับเขา ซึ่งเป็นใครก็ไม่ได้รู้จักชื่อเขาเพราะคนงานรับเหมาก่อสร้างมีเยอะมาก เขาอาจเคยเห็นมดแต่มดไม่รู้หรอกว่าเขาคือใคร

"ขอให้ไปสู่สุคติ อย่าทำร้ายประธานให้บาดเจ็บแบบนี้เลย เขาอายุมากแล้ว..เขามาสร้างงานให้กับคนบ้านเรา วันพรุ่งนี้ก็วันเสาร์จะตื่นตี 5 ใส่บาตร อุทิศส่วนกุศลไปให้นะ"


"ง่วง.ง่วงมาก..วานนี้เลิกงานกว่าจะถึงบ้านก็ตั้ง 4 ทุ่ม พรุ่งนี้ก็วันอาทิตย์ ขอเลื่อนไปเป็นพรุ่งนี้นะ"....
ตู๊ด ตู๊ด ตู๊ด...... ตู๊ด ตู๊ด ตู๊ด.......... ตู๊ด ตู๊ด ตู๊ด.............

"อื่อออออ....." แล้วก็เอื้อมมือกดปิดเสียงนาฬิกา ที่ตั้งปลุกไว้ก่อน ตี 5   15 นาที

มดนึกขอผลัดผ่อนกับเขาในใจ เพราะปกติวันหยุดแบบนี้มักเพลียตื่นเอา 10 โมงเช้าก็ยังมี

แต่อีกราว 5 นาทีต่อมา          "กริ๊งงงงงงงง กริ๊งงงงงงงงงงง"    "กริ๊งงงงงงงง กริ๊งงงงงงงงงงง"

เสียงของโทรศัพท์ตรง กลางบ้าน ก็ดังขึ้นไม่หยุด

"โอ๊ยยยยย ตีสี่ตีห้านี่นะ...ใครโทรมา.....หนวกหู..."

ห้องของมดอยู่ติดกับบันไดชั้นสอง และอยู่ใกล้โทรศัพท์มากกว่าห้องอื่น ๆ ในบ้าน
คิดแล้วก็ต้องลุกจากเตียง เดินออกจากห้อง ไปรับสาย..

มด : ฮัลโล
สาย:・・・・(เงียบ)
มด  :ฮัลโล ๆ
สาย:・・・・(เงียบ)
มด : ใครคะ?? ฮัลโล ๆ 
สาย:・・・・(เงียบ)

เริ่มฉุนขึ้นมานิด ๆ  ใครกัน มีธุระอะไรจะโทรมาแต่เช้ามืด แกล้งกันหรือเปล่า ไม่มีมารยาทไม่พอ ไม่คุยอีก
นี่ฉันต้องลุกขึ้นไปรับสาย ทั้งที่ยังเพลียอยู่เลยนะ..

แต่พอได้หงุดหงิด ตาก็สว่าง ... เหลือบมองนาฬิกาก็เห็นว่ายังอีก 10 นาทีก็จะตี 5

"เอาละ ไหน ๆ ก็ตื่นแล้ว ลุก!  ไปใส่บาตรละกัน..."

หลังจากกลับเข้าบ้าน จัดการกับกิจวัตรประจำวันแล้วก็มานั่งคิด
อืม...ไม่รู้ว่า ใครโทรมาที่บ้านตอนก่อนตี 5  แต่มดคิดว่าไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์จากใคร แต่เสียงกริ่งนั้นก็ปลุกมดให้ลุกขึ้น ตาสว่างได้ ไม่พอยังช่วยให้มด


 ไม่ผิดสัญญาที่ให้ไว้กับคนงานตอนเย็นวานนี้ ไปใส่บาตรได้ตอนตี 5 เป๊ะ ซะด้วยสิ 

เรื่องของวันเสาร์เช้ามืดทำให้มดเริ่มรู้สึกสนใจ ที่จะสอบถามถึงคนงานกับเรื่องราวการเสียชีวิต และรู้ว่าพิธีศพของเขายังอยู่ที่วัดด้านหลังกำแพงบริษัทซึ่งไม่ได้ไกลจากบริษัทเลย มดไปที่วัดกับเพื่อนสองสามคนหลังทานกลางวัน วันนั้น
แล้วก็ได้รู้ว่าคนงานชายคนนี้มีทั้งภรรยา น้องชาย และลูกยังเล็ก ตามมาทำงานกับเขาจากภาคอีสาน
เมื่อได้ไหว้ศพและทำบุญให้  แล้วได้พูดคุยกับภรรยาที่เล่าไปด้วยร้องไห้ไปด้วย รู้สึกถึงความลำบาก ไม่มีรายได้ และขาดหัวหน้าครอบครัว มดแนะนำงานที่บริษัทของเราให้เขาหลังจากนั้น

มาวันนี้จึงได้รู้ว่า เหตุผลที่ต้องทำให้ประธานบาดเจ็บนั่นก็อาจเพราะด้วยสาเหตุ
ของจิตที่เต็มไปด้วย"ความห่วง"และต้องการช่วยเหลือครอบครัวของเขา  
ซึ่งถ้าเขาทำกับคนอื่น ๆ  บาดเจ็ม มดคงไม่ได้สนใจมากนัก  ความได้ผลไม่เท่ากับกระทำกับประธานที่เคารพเหมือนญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง หลังจากวันนั้นก็ไม่มีเรื่องใดกับประธาน 
และรอยบวมที่หน้าผากก็ยุบหายไวและไร้ร่องรอยอีกด้วยสิ




2016年2月4日木曜日

"เนียน" ตอนแรก


 
"มดไง มดไง...."

จูนบอกเพื่อนในห้อง 5/7 หลังพักเที่ยง ห้องภาษาฝรั่งเศสเรากำลังตกลงกันว่าจะพารุ่นน้องไปรับน้องที่ไหนสักที่
โดยเลือกสถานที่ที่"ไม่ไกลนัก" มีปัญหาเรื่อง ทั้งรถพาน้อง ๆ และเพื่อน ๆ ราว 14-15 คน และคนขับรถ
มด..หรือ? อุย..... ใจแป๊ว....ทำหน้าอย่างไรไม่รู้ได้
จริงแล้ว..ตั้งสติรู้ว่า...สะดุ้งสุดขีดแหละคง.."ตีหน้าตาย" แน่ ๆ ตอนนั้น

ที่รู้สึกเสียวสันหลังแบบไม่เคยเป็นมาก่อน 
 
วันที่จูนเดินแวะเข้ามาที่บ้าน
"ไหนมามด???" 
คำถามเย็นวันนั้น!!...

มดอยู่ท่ามกลางพี่ ๆ ผู้ชาย และมักถูกปฏิเสธ เวลาอยากทำอะไรบ้างตามพี่ ๆ เขา
นี่ก็ได้แต่เห็นพ่อ สอนพี่พี่ขับรถ เอารถไปขับรอบสนามฟุตบอลในศาลากลางจังหวัด(สามกษัตริย์ ปัจจุบัน)
พ่อง่ะ!! ไม่เห็นสอนมดเลย..ได้แต่ "ลอบสังเกตุ" เชนเกียร์ เวลาพ่อขับ  จนพี่ ๆ เค้าก็ขับไปไหนต่อไหนกันแล้ว เป็นกันหมดแล้ว ถูกทิ้งให้เรียนรู้เองแบบนี้ทุกที  เอาง่าย ๆ หัดขี่จักรยาน ขี่สามล้อ ขี่มอเตอร์ไซต์ยังหัดด้วยกัน เค้าทิ้งกันไปเก่งกันหมด ทีรถยนต์ไม่สอนเรียนไม่ทันพี่มั่งเลย.  ยิ่ง.ห้าม.ยิ่งอยากเป็น
  "จังหวะพี่เผลอ" คือเวลาทอง มดคว้ากุญแจ...เรื่อยมา ไม่มีใครอยู่..วันนี้พี่เอากะบะออก
ฉวย ดัสสันซันนี่ ดีที่มันคันเล็กอยู่หรอก
 ทดลองเปลี่ยนเกียร์ก่อน  1 2 3 4 หมุนกุญแจ สต๊าท..เลียครัช   ติด ๆ ดับ ๆ อยู่พอควร แล้วก็ ออกไปมันตรง ๆ แล้วที่ยากนิดหนึ่ง...ตรง เกียร์ถอย
                                           
                                              ถอยเข้าแล้วก็ถอยออก.. ถอยเข้าแล้วก็ถอยออก....
                                                      ก็..วันที่จูนมาหาที่บ้านเย็นวันนั้นแหละ!!!!

"..ตลาด..."

ปากเอ๋ย ปาก..ความคิดเล่น ๆ ตอนนั้นมันทำเอาเหงื่อตกวันนี้...
เพื่อนในห้อง เยอะดิ.....เวรกรรม ดำขาว เอาไงดี???....

"มดไง มดขับรถได้ มีกะบะด้วย..."
"ใช่ไม๊? ใช่ไม๊?.."
"น้ำตกแม่สา..ตกลงตามนี้นะ?"

โห.....คงเห็นว่าใกล้ที่สุดละ แต่มันโครตไกลสำหรับมด คนที่ไม่เคยขับแม้แต่จะเลยปากประตูบ้าน!!
เอาละสิ....เอาล่ะว้า....เอาไง....

"ได้ "
(เย้ย..ย..ย..)
เค้าบอกแล้วว่าทำเนียนแม้เพียงสักครั้ง มันจะทำให้ต้องเนียนต่ออีกหลายต่อหลายครั้ง ก็งี้แหละ...ซอย.. ละทีนี้
"ตามนี้!!!"

เหงื่อแตก สมน้ำหน้าตะเอง..พระเจ้า..ช่วยด้วย... มดต้องหัดขับให้ได้ก่อนวันนั้นนะ...
แน่นอน  เอารถกะบะมันใหญ่ว่าซันนี่เยอะเลยนะ

ตอนนั้นใจหายกับการต้องขับ กลบความคิดที่ว่า....
 "แล้วจะเอารถออกจากบ้านได้ไง?" หรือ
" จะได้จังหวะเอารถออกบ้านไปได้ไง? " ซะปลิดทิ้ง

ความกลัวมีมากมาย  ความบ้ามีมากกว่า บวกความกล้าสุดโต่ง....

วันเดินทางมาถึง วันนั้นประจบพี่ชายคนรองให้ขับรถออกจากบ้านไปจอดที่โรงเรียนให้ 
อ้างว่าจะให้คนขับได้ขับไปน้ำตกกัน
พี่ชายเลยให้กุญแจรถไว้แล้วเดินกลับบ้านไป..ตกลงเอารถออกจากบ้านอย่างปลอดภัย...
"สำเร็จไปแล้ว 1 มิติ"

พี่แป๊ดเหลียวหลังมาบอกว่า
"มันเทอร์โบนะ ขับดี ๆ ระวังเวลาเครื่องร้อน คนขับเขาคงรู้!!!.."
โอ๊ย...คนขับมันท่าจะรู้นะ!!  เทอร์โบ?? 
 (อ๋อ..ท่อไอเสียมันใหญ่นะ เสียงดังบรึ่ม ๆ น่ะ เรียก เทอร์โบไง....เลี่ยม!..)


เพียง...ความจริง.ต่อจากนั้นวันนั้น จนป่านนี้พี่ก็ยังไม่รู้...ขอโต๊ด นะคะ
ยุพราชไกลบ้านอีกนิดก็จะดี จะได้ลอบมองทั้งที่มือพี่ ตอนเชนเกียร์ จะได้ดูตีนพี่เวลาเลียครัช
 ขาวบอกว่า "เฮ้ย...มด แกก็เลียน แบบ..ทำท่า ตามพี่เค้าเมื่อตะกี้ นั่นแหละ จะกลัวอะไรล่ะ!!" 
 ตกลงวันนั้นน้อง และเพื่อนร่วมชั้นบางคน นั่งอยู่เต็มท้ายรถกะบะ ราว 14 คน จูนและเพื่อนอีกคน ใครน้า...นั่งข้างคนขับ

       อื่อ....เรา..จะไปน้ำตกแม่สากัน!!   
                                                                 (มีต่อตอนจบ ราตรีสวัสดิ์ค่ะ)






ถ้าบังเอิญผ่านมาอ่านคงงงไปเลย แบบนี้อันว่าที่จริงการเสี่ยงภัยถึงชีวิตก็เริ่มตั้งแต่สี่ขวบ ตอนไหลไปจมน้ำตอนนั้นก็เกือบตายไปทีหนึ่ง และถึงวันนี้ก็ยังมีอีกหลายหน ก็..ชีวิตมันเป็นของไม่แน่นอนนะ ความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแต่น่าเสียดายถ้าไม่ได้มีโอกาสสร้างอะไรไว้เสียบ้างเสียก่อน เลยเขียนไว้ให้คุณอ่านไง มันเพียงชีวิตแต่ละตอนของฉัน ก็เหมือนคุณใช่ไหม? ทุกคนก็มีใช่ไหม? 
..เพราะ ตอนนี้ไกลบ้านเกิดนิดหน่อย ที่นี่ภัยมันเยอะสิ เป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวเองแล้วก็รู้สึกผวาเอง เอาเข้าจริงไม่รู้จะช่วยคนรอดได้แค่ไหนนะ อย่างหนึ่งที่ช่วยได้แล้วไม่ทำให้คนอื่นลำบากคือ "ต้องแข็งแรง"  นะ    ชีวิตที่บางทีไม่รูัว่าจะมีวันไหนที่จะไม่สมบูรณ์แบบวันนี้
หรือ อาจมีบางวันที่มดความจำเสื่อมไป หรือมีภัยสักอย่างที่นี่ สิ่งที่เป็นของขวัญให้ระลึกถึงก็เป็นเพียงเรืองราว บทที่เขียนในมุมต่าง ๆ ต่อ ๆ ไปแบบนี้ละมังนะ ความเสี่ยงมักเกิดขึ้นเสมอ ก็..ทำใจไว้แต่ไหนแต่ไรแล้วละ